วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชื่อแหล่งเรียนรู้                    ผ้าทอมือ

ที่ตั้ง                                        91  หมู่ 2 ตำบลเชียงกลาง  อ.เชียงกลาง จ.น่าน










ความเป็นมา / ความสำคัญ

 ผ้าทอมือ ทอโดยใช้ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ เช่น สีดำจากผลมะเกลือ  สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากขมิ้น  และสีน้ำตาลได้จากเปลือกต้นสนเป็นต้น ลวดลายที่ทอส่วนใหญ่เป็นผ้าทอลายน้ำไหล    ที่มีสีสันและลวดลายที่งดงาม  เป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิค ที่ทำให้เกิดลวดลายโดยใช้ด้ายเส้นพุ่งธรรมดาหลายสีพุ่งย้อนกลับไปมาเป็นช่วงๆ ทอด้วยเทคนิคขัดสาน แต่มีการเกาะเกี่ยวและผูกเป็นห่วงรอบด้ายเส้นยืนเพื่อยึดเส้นพุ่งแต่ละช่วงไว้  เรียกเทคนิคนี้ว่า   " ล้วง " การทอแบบนี้ทำให้เกิดลายที่มีลักษณะคล้ายสายน้ำไหล จึงเรียกว่า "ผ้าลายน้ำไหล"  ซึ่งเป็นการทอด้วยเทคนิคแบบล้วง โดยใช้ฝ้ายสีต่างๆ สอดขึ้นสอดลงให้ไหลไปในทางเดียวกัน ไล่ระดับไปเรื่อย ๆ  ดูคล้ายการไหล ของสายน้ำ ผ้าลายน้ำไหลเป็นลายที่ทอกันในยุคหลังประมาณ 80-100 ปี โดยพัฒนามาจากลายผ้าของชาวลื้อ ปัจจุบันมีการพัฒนาลายน้ำ ไหลเป็นรูปแบบ ต่าง ๆ  เช่น ลายจรวด ลายน้ำไหลสายรุ้ง ลายปู เป็นต้นและนอกจากนี้ ยังมีลวดลายอื่นๆ เช่น  ลายขัด เป็นลายผ้าพื้นธรรมดา ตกแต่งลวดลายด้วยการสลับสี  , ลายแซง คือลายทางยาวที่แทรกด้วยยืนสีแดงหรือสีดำเป็นระยะ ๆ   



ชื่อแหล่งเรียนรู้                    พระธาตุศรีบัวแบ่งเทพมงคล          

ที่ตั้ง                                       หมู่  1  ตำบลเชียงกลาง   อำเภอเชียงกลาง  จังหวัดน่าน


ความสำคัญ / ความเป็นมา

แรกเริ่มเมื่อ  พ.ศ.  2411  เจ้าเทพวงศ์  จิตรวงศ์นันท์  พร้อมด้วยกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนตำบลเชียงกลาง  ได้เดินทางไปยังแขวงอำเภอปัว  จังหวัดน่าน  เพื่อไปขอแบ่งพระธาตุจากคณะศรัทธา  (ราษฎร)  วัดปรางค์  อำเภอปัว  ซึ่งกำลังจะทำพิธีบรรจุพระธาตุอยู่คณะกรรมการผู้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุจึงได้แบ่งพระธาตุให้เจ้าเทพวงศ์จำนวน  8 องค์และได้นำมาบรรจุ  องค์พระธาตุไว้ที่วัดคาว  ซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งคาว  อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านกุ่มและหมู่บ้าน     ผาล้อม  วัดคาวนี้เป็นวัดที่เก่าแก่มากที่สุดของตำบลเชียงกลาง  ด้วยความร่วมร่วมใจกันของพุทธศาสนิกชนในตำบลเชียงกลาง  ได้สร้างเจดีย์แบบลังกา  ขนาดฐานกว้าง  12  เมตร  สูง  16 เมตร  มีกำแพงล้อมรอบ  ดำเนินการก่อสร้างอยู่  2 ปี  จึงแล้วเสร็จ  ตั้งชื่อว่า  “พระธาตุศรีบัวแบ่งเทพมงคล”   คือได้รับแบ่งมาจากวัดปรางค์  อำเภอปัว  จังหวัดน่าน  แต่ประชาชนโดยทั่วไปมักเรียกว่าพระธาตุวัดคาว 
องค์ความรู้ของแหล่งเรียนรู้
1. ประวัติความเป็นมาของพระธาตุศรีบัวแบ่งเทพมงคล  ที่เป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นพระธาตุเก่าแก่ทรงระฆังคว่ำที่สูงเด่นเป็นสง่าสวยงามและศักดิ์สิทธิ์ ของชาวเชียงกลาง   
2. ประวัติความเป็นมาของวัดบ้านเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งขององค์พระธาตุศรีบัวแบ่ง- เทพมงคล
 กิจกรรม / การให้บริการ
1. ให้บริการศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาของพระธาตุศรีบัวแบ่งเทพมงคล ซึ่งเป็นเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงกลาง ที่นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและกราบไหว้
2. เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญทางพุทธศาสนา ประเพณีท้องถิ่น เช่น ประเพณีทำบุญตักบาตร , เวียนเทียน , ประเพณีนมัสการพระธาตุศรีบัวแบ่งเทพมงคล  และเมื่อถึงวันขึ้น 15  ค่ำเดือน 5 ของทุกปี จะมีการสรงน้ำพระธาตุ  มีขบวนแห่น้ำอบ  น้ำหอมของพุทธศาสนิกชนในตำบลเชียงกลาง เพื่อสรงน้ำพระธาตุ  บางปีมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่    มีการแสดงและการละเล่นต่างๆ  มีดนตรี  มีซอพื้นเมือง  ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีของชาวตำบลเชียงกลาง

ข้อมูลโดย   นางสุรภี  การะเกษ  ครูกศน.ตำบลเชียงกลาง           
                อำเภอเชียงกลาง  จังหวัดน่าน 

 ชื่อแหล่งเรียนรู้                        ศาลเจ้าพ่อพญาไมย
ที่ตั้ง                             หมู่ 13  ตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

 ความสำคัญ / ความเป็นมา
ศาลเจ้าพ่อพญาไมย หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า เจ้าพ่อดงฆ้องหรือผีดงฆ้อง  เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำกอนที่ต้นประดู่หรือชาวบ้านเรียกกันว่า บวกหวายหรือบวกฆ้อง  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านสบกอนและชาวอำเภอเชียงกลางยึดเหนี่ยวผูกพันมาช้านาน 
ความเชื่อ
1.ก่อนฤดูการทำนาทุกปี ชาวบ้านจะทำพิธีบวงสรวงให้เจ้าพ่อช่วยดูแลไร่นา เริ่มตั้งแต่การไถ การหว่านต้นกล้า การดำนา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จนเสร็จสิ้นที่อย่าง หลังการทำพิธีสู่ขวัญ ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงเจ้าพ่อโดยกระทำกันในวันที่  3  ธันวาคม  ของทุกปี
2. การทำพิธีบวงสรวงทุกครั้ง ต้องให้อาจารย์ผู้บวงสรวง ( ข้าวจ้ำ ) เป็นผู้นำกล่าวบวงสรวงบูชา ผู้ใดที่ต้องการทำพิธีดังกล่าว จะต้องนำดอกไม้ ธูปเทียน และสิ่งบูชาจากชาวบ้าน ดอกไม้ที่ใช้ควรเป็นสีขาว และเงินค่ายกครูตามศรัทธา หรือบริจาคเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าพ่อตามกำลังศรัทธา เมื่อมีเทศกาลงานบุญต่างๆ เช่น งานฉลองวิหาร อุโบสถ งานบวชนาค ฯลฯ 
ต้องนำผ้าอุ้ม หรือผ้าไตรไปขอพร และความคุ้มครองในการจัดงาน เมื่อเสร็จงานต้องทำพิธีเซ่นบวงสรวง ( แก้บน ) ตามความเหมาะสม
3. ด้านกำลังใจ สำหรับผู้ที่ต้องการกำลังใจ เช่น การสอบ สมัครงาน การเดินทางไกล ตลอดจนการเจ็บป่วย การค้าขาย ต้องนำดอกไม้ ธูปเทียน พร้อมเขียนชื่อ นามสกุล จุดประสงค์ และรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน โดยนิยมเขียนไว้หลังรูปภาพของ












ผู้บวงสรวง เมื่อประสบผลสำเร็จแล้ว ควรกลับมาทำพิธีเซ่นบวงสรวง แก้บน เพื่อความสบายใจ และเพื่อความเป็นสิริมงคล
องค์ความรู้ของแหล่งเรียนรู้
1. ขั้นตอนพิธีเซ่นบวงสรวง ( แก้บน ) เจ้าพ่อพญาไมย  ทุกวัน หยุดเฉพาะวันพระ
2. พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อพญาไมย  ประจำปี จะทำทุกวันที่  3 ธันวาคมของทุกปี  ในงานจะมีการจัดขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้  และการฟ้อนรำเพื่อถวายเจ้าพ่อพญาไมย
3. บ่อน้ำทิพย์เจ้าพ่อพญาไมย เป็นบ่อน้ำใสสะอาดให้ชาวอำเภอเชียงกลางและอำเภอใกล้เคียง ได้ดื่มกิน และใช้ โดยมีน้ำไหลตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีหมด และถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
4. เขตอนุรักษ์พันธ์ปลา แม่น้ำกอนบริเวณนี้จะเป็นเขตอนุรักษ์พันธ์ปลา มีสวนสาธารณเป็นจุดพักผ่อนสำหรับนักเดินทาง
5. อ่างเก็บน้ำห้วยติ้ว ด้านทิศตะวันออกศาลเจ้าพ่อพญาไมย ประมาณ 30 เมตร จะมีอ่างเก็บน้ำห้วยติ้วเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและมีภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
กิจกรรม / การให้บริการ
1. พิธีเซ่น บวงสรวง แก้บน เจ้าพ่อพญาไมย
2. ศึกษาและเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น การอนุรักษ์แหล่งน้ำ  ,          การอนุรักษ์พันธุ์ปลา
3. เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

ข้อมูลโดย   นางสุรภี  การะเกษ  ครูกศน.ตำบลเชียงกลาง           
                อำเภอเชียงกลาง  จังหวัดน่าน  

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลเชียงกลาง
ประเภทภูมิปัญญา                              อาหาร
ชื่อภูมิปัญญา                                        ข้าวควบ



 ความเป็นมา ความสำคัญของภูมิปัญญา
         “ ข้าวควบ   ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.  2542ได้ให้ความหมายไว้ว่า  ข้าวเกรียบใส่น้ำตาลอ้อย มีรสหวานอย่างข้าวเกรียบว่าว ข้าวควบ เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานกันมาก ลักษณะคล้ายขนมทองม้วน รสหวานกรอบ แต่พองและแผ่นใหญ่กว่า
 ส่วนประกอบ / เครื่องปรุง
1. ข้าวเหนียว                       2        ลิตร      
2. น้ำอ้อย                       300    กรัม                     
3. น้ำตาลปิ๊ป                 500    กรัม                                                      
4.ใบตอง
5. ไข่                             3   ฟอง
6. ไม้กลม
7. น้ำมัน
8.  น้ำ
 อุปกรณ์
                ครกมอง (ครกกระเดื่องไม้กลมนวดแป้ง หญ้าคาที่เป็นตับ ไม้ไผ่มือเสือ ตะกร้าสานใบใหญ่ แผ่นไม้กระดานนวดแป้ง
 วิธีทำ 
1. นำข้าวเหนียวแช่น้ำ ไว้ประมาณ 6 – 10 ชั่วโมง แล้วนำมานึ่งให้สุก
 2.นำไปตำในมอง (ครกกระเดื่องให้เมล็ดข้าวแตกละเอียด จนมีลักษณะเหมือนแป้งขนมเทียนสุก
3.  ผสมไข่ น้ำอ้อย น้ำตาลปิ๊บ  ลงตำในครก  ระหว่างที่ตำแป้งให้ใช้มือคนในครกแป้ง และผสมน้ำลงไปพอประมาณ เพื่อให้แป้งเหนียว จนได้ที่แล้วปั้นเป็นก้อน ๆ ขนานเท่าลูกมะนาว
4.  ใช้น้ำมันหมูทาแผ่นไม้กระดาน หรือใบตอง ( อาจใช้พลาสติกแทนได้ )ใช้ไม้กลมคลึงก้อนแป้งให้เป็นแผ่นบาง ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 - 8 นิ้ว ใช้ไข่ขาวทาแผ่นแป้งทั้ง หน้า
5.  นำวางบนหญ้าคาที่เตรียมไว้ ตากแดดหรือลมให้แห้ง ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ในระหว่างที่ตากแผ่นแป้งให้พลิกเพื่อกลับด้าน แล้วเก็บเรียงซ้อนกัน
6.  นำไปผิงไฟโดยวางลงบนไม้ไผ่มือเสือ ใช้ไฟอ่อน ๆ ข้าวควบจะพองขยายใหญ่ ผิงไฟให้เหลือง นำใส่ในตะกร้าไม้ไผ่สานที่เตรียมไว้ ควรรองด้วยผ้าพลาสติกแผ่นใหญ่คลุมกันถูกลม หรืออาจนำไปทอดกับน้ำมันร้อน เพื่อนำมารับประทาน หรือเป็นของว่าง
 ประโยชน์ของภูมิปัญญา
                ข้าวควบ ยังมีอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอำเภอเชียงกลาง เป็นอาหารว่างที่มีราคาไม่แพง และปลอดจากสารพิษ เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน
แหล่งข้อมูลภูมิปัญญา
นางกิ่งแก้ว  เทพอินทร์ อายุ 65 ปี
บ้านเลขที่   64  หมู่ 2 บ้านเชียงโคม   ตำบลเชียงกลาง  อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 55160
นางลอย   อุ่นใจ  อายุ 64 ปี
บ้านเลขที่   75  หมู่ 2 บ้านเชียงโคม   ตำบลเชียงกลาง  อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 55160

ข้อมูลโดย   นางสุรภี   การะเกษ ครูกศน.ตำบลเชียงกลาง           
              อำเภอเชียงกลาง  จังหวัดน่าน  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น